วันอาทิตย์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2553

ความเป็นมา

ตลาดคลองสวน
ตั้งอยู่ริมคลองประเวศบุรีรมย์ ตลาดเป็นเรือนแถวไม้สองชั้นสร้างขนานไปกับคลองโดยเว้นทางเดินแคบๆหน้าคลอง ไว้ เรือนแถวไม้กินอาณาบริเวณคร่อมสองจังหวัด ส่วนหนึ่งอยู่ใน ต.คลองสวน, อ.บางบ่อ สมุทรปราการ อีกส่วนหนึ่งอยู่ในต.เทพราช, อ.บ้านโพธิ์, ฉะเชิงเทรา โดยแบ่งกันด้วยคลองซอยย่อย ตลาดคลองสวนเกิดเป็นชุมชนมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ผมไม่สามารถหาข้อมูลได้ว่าก่อตั้งตั้งแต่ปีใด พบเพียงแห่งเดียวที่เขียนไว้ในบอร์ดพันทิพว่านายจรุงและนางบรรจง อัศวาณิชย์เป็นผู้ก่อตั้งตลาด นับว่าประวัติของการก่อตั้งชุมชนไม่ได้มีการบันทึกไว้เป็นหลักฐานที่สามารถ นำไปใช้อ้างอิงได้

ลักษณะของแถวเรือนไม้สองชั้นแบบโบราณ ภายนอกใช้ไม้ตีเป็นฝาซ้อนกันตามแนวนอนกันน้ำฝนไหลย้อน ส่วนที่กั้นระหว่างห้องเป็นฝาไม้กระดานแนวตั้งตีซอนทับกัน หลังคาสังกะสี ประตูเป็นแบบบานเฟี้ยม เรือนแถวที่เห็นทุกวันนี้น่าจะมีอายุไม่เกินห้าหกสิบปี ห้องชั้นล่างเป็นที่ค้าขาย ส่วนด้านบนเป็นที่เก็บสินค้าและที่อยู่อาศัย เครื่องเฟอร์นิเจอร์ในบ้านและตู้โชว์สินค้าทำจากไม้ และเป็นแบบโบราณ อาคารเปิดโล่งด้านล่าง ส่วนหน้าต่างด้านบนปิดและติดตั้งเครื่องปรับอากาศ ไม่มีระเบียงชั้นบน แต่ละร้านกองสินค้าไว้มากมาย มีหลายร้านได้เลิกกิจการดั้งเดิมไปแล้วโดยสังเกตได้จากเฟอร์นิเจอร์เก่าที่ ต่อไว้เป็นร้านทำทองรูปพรรณบ้าง ร้านกาแฟบ้าง ร้านขายยา เป็นต้นโดยเจ้าของปัจจุบันดัดแปลงเป็นร้านโชวห่วย ตลาดคลองสวนนับเป็นชุมชนที่มีการแลกเปลี่ยนทางการค้าแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร คือมีร้านขายวัตถุดิบอาหารสด, อาหารแห้ง, ร้านกาแฟ, ร้านตัดเสื้อ, ร้านตัดผมชาย, ร้านบัดกรี, ร้านขายผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร, ร้านเครื่องปั้นดินเผา โอ่งน้ำ, ร้านเครื่องเหล็ก, ร้านเครื่องใช้ไฟฟ้า, ร้านซ่อมเครื่องไฟฟ้า, ร้านทอง, ร้านขายยา, ร้านขายผ้า, ที่นอนหมอนมุ้งและการฝีมือ ธุรกิจเก่าแก่เปลี่ยนมือจากคนในถิ่นเป็นคนนอกถิ่นเข้ามาถือครองเมื่อเกิด กระแสพานักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามา ทำให้เห็นร้านเกมส์, ร้านขายโทรศัพท์มือถือเข้ามาบ้าง อาหารและขนมไทยผุดขึ้นมามากมาย นอกจากสินค้าโชวห่วยแล้ว ยังมีร้านที่นำเอาของเล่นโบราณ, ตะเกียงน้ำมัน, ตะเกียงเจ้าพายุ, หมากฝรั่งมวนบุหรี่, ท๊อฟฟี่ขนมเหนียว ซึ่งเป็นที่นิยมเมื่อสี่ห้าสิบปีที่แล้วมาวางจำหน่าย ของเล่นสังกะสีชุบและตุ๊กตาส่วนใหญ่จะนำมาจากจีน ให้เลือกซื้อเพื่อคืนความทรงจำในวัยเด็กริมน้ำซึ่งเดิมอาจมีแต่ศาลาท่าน้ำ ได้รับการต่อหลังคาจากชายคาเรือนแถวคลุมไปจรดชายน้ำ และเกิดศาลายาวริมน้ำใช้เป็นที่ขายของ อีกฝั่งคลองประเวศเป็นเรือกสวน มีสะพานไม้สูงชันเชื่อมสองฝั่งคลอง เรือสามารถลอดผ่านได้ มีทั้งวัดคลองสวน, สุเหร่า เป็ฯศูนย์รวมใจของชุมชน แม้ว่าจะมีถนนตัดผ่านเข้ามาด้านหลังตลาด และวัด แต่คนก็ยังอาศัยเรือเครื่องและเรือแจวในการเดินทางกันไม่น้อย การเดินทางจากฉะเชิงเทราเพื่อเข้าบางกอกในสมัยก่อนต้องอาศัยเส้นทางคลอง ประเวศฯสายนี้และลัดเข้าเมืองที่คลองแสนแสบ คลองสวนจึงเป็นทางผ่าน เป็นจุดพักเรือระหว่างทางและเป็นที่ขนถ่ายสินค้า

จุดเด่นอีกประการของตลาดคลองสวนคือ การพยายามฟื้นฟูและอนุรักษ์รูปแบบของชุมชนตลอดจนสถาปัตยกรรมของอาคารไว้ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบังได้เข้ามาศึกษาภูมิทัศน์และอาคาร โดยเขียนแบบไว้ นอกจากนี้ทายาททของตระกูลอัศวาณิชย์ยังได้จัดพื้นที่ของอาคารไม้ส่วนหนึ่ง เป็นพิพิธภัณฑ์ โดยรวบรวมวัตถุต่างๆมาจัดแสดง ได้แก่ แผ่นป้ายชื่อร้าน, เฟอร์นิเจอร์, สิ่งของเครื่องใช้โบราณมาจัดแสดง

ภาพถ่ายจากคลองสวน